ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาบริการดูแล บำรุงรักษาต้นไม้ สวนไม้ประดับ สวนหย่อม สนามหญ้า ปีงบประมาณ 2565
25 สิงหาคม 2021
ประกาศประกวดราคาจ้างเหมารักษาความปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ 2565
25 สิงหาคม 2021
ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาบริการดูแล บำรุงรักษาต้นไม้ สวนไม้ประดับ สวนหย่อม สนามหญ้า ปีงบประมาณ 2565
25 สิงหาคม 2021
ประกาศประกวดราคาจ้างเหมารักษาความปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ 2565
25 สิงหาคม 2021
จะเลิกยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย

จะเลิกยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย

การนอนไม่หลับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญส่งผลกระทบต่อบุคคลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการรักษาด้วยยานอนหลับ และรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนรู้สึกว่าตนเองจะไม่สามารถนอนหลับได้เลย หากไม่ได้รับประทานยาเหล่านี้ หลายคนไม่รู้ว่าตนเองเกิดภาวะติดยานอนหลับจนกว่าจะพยายามเลิกใช้ยา ซึ่งการเลิกรับประทานยาอย่างทันทีหรือเรียกว่าหักดิบนั้นก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างมากราวกับว่าคุณกำลังตกอยู่ในการต่อสู้ที่ดุเดือดและมีอันตราย  ความจริงแล้วยังมีวิธีการเลิกยาที่ดีกว่าการ “หักดิบ” ที่จะช่วยให้คุณสามารถเลิกใช้ยานอนหลับได้อย่างปลอดภัยโดยไม่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตปกติประจำวัน โดยการค่อย ๆ ลดปริมาณยาที่รับประทานลงอย่างช้า ๆ ร่วมกับการฝึกนิสัยในการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติและที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้การเลิกยาครั้งนี้ดำเนินไปด้วยดีและประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้นั่นก็คือ “คุณควรขอคำปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อน”

ยานอนหลับคืออะไร

จากชื่อก็บอกเป็นนัย ๆ ถึงคุณสมบัติได้ระดับหนึ่งว่าเป็นยาที่เมื่อรับประทานยาแล้วจะช่วยให้หลับได้และมักช่วยบรรเทาอาการเครียด วิตกกังวลได้อีกด้วย ยาที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่
– กลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants) ยาต้านเศร้าบางตัว เช่น ทราโซโดน (Trazodone) เป็นยาที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับและวิตกกังวลได้ดีมาก
– กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยากลุ่มนี้จัดเป็นยาคลายกังวล (Anxiolytic) ออกฤทธ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางสามารถนำไปใช้รักษาได้หลายอาการ เช่น อาการนอนไม่หลับ ภาวะลมชัก คลายกล้ามเนื้อหรือคลายความวิตกกังวล บางขนานมีผลทำให้ง่วงนอนได้มากและถูกใช้เป็นยานอนหลับ ในปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังคงเป็นยาหลักในการรักษาอาการนอนไม่หลับ เช่น  ไดอะซีแพม (Diazepam) ฟลูราซีแพม (Flurazepam) ไทรอะโซแลม (Triazolam) ลอราซีแพม (Lorazepam) อัลพราโซแลม (Alprazolam) เทมาซีแพม (Temazepam) ฯลฯ การใช้ยาเหล่านี้ในขนาดสูงติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือขนาดต่ำติดต่อกันหลายเดือนอาจทำให้เกิดการติดยา และเมื่อเลิกยาทันทีจะเกิดอาการถอนยา (Withdrawal) เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล หงุดหงิด ฯลฯ ถ้าหากรับประทานยากลุ่มนี้ในขนาดสูงและติดต่อกันนานเมื่อเลิกยาอาจมีอาการนอนไม่หลับมากขึ้น (Rebound insomnia)
– ยานอนหลับกลุ่ม Z-drug คือ ยารักษาโรคนอนไม่หลับกลุ่มใหม่ที่ถูกนำมาใช้รู้จักในชื่อว่า ยากลุ่มซีดรักส์ (Z-drugs) ได้แก่ โซลพิเดม (Zolpidem) และโซพิโคลน (Zopiclone)  เป็นยาที่ช่วยให้นอนหลับอย่างได้ผล มีช่วงระยะเวลาในการออฤทธิ์สั้นจึงไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะง่วงหรือสับสนในตอนเช้าหลังตื่นนอน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเลิกรับประทานยานอนหลับ

การหยุดยานอนหลับอย่างทันทีที่เรียกว่า “หักดิบ” (Cold turkey) จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยานอนหลับ (Rebound insomnia) และเกิดอาการถอนยา(Withdrawal symptoms ) ซึ่งอาจเริ่มต้นได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิด ขนาด และระยะเวลาในการใช้ยา อาการทั่วไปของการถอนยา ได้แก่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สับสน กระสับกระส่าย วิตกกังวล อาการสั่นหรือมีปัญหาระบบไหลเวียนของโลหิต วิธีการที่จะช่วยให้เกิดอาการถอนยาเพียงเล็กน้อยหรือน้อยที่สุดนั่นก็คือการค่อย ๆ ลดปริมาณยาลงอย่างช้า ๆในช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์ ก่อนที่คุณจะเลิกใช้ยาได้อย่างสมบูรณ์

แล้วอะไรคือ…อุปสรรคในการเลิกยานอนหลับ…

สิ่งที่เป็น อุปสรรคในการเลิกยานอนหลับก็คือ…ความวิตกกังวลของคุณเอง... ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณได้รับขนาดยาลดลงหรือไม่ได้รับประทานยา ซึ่งผลจากการวิจัยเชิงทดลองของศาสตราจารย์ ดร.แจ๊ค เอดิงเงอร์ (Jack Edinger) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิทราเวชแห่งศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ (National Jewish Health) เมืองเดนเวอร์ พบว่าในผู้ป่วยกลุ่มทดลองที่ได้รับการลดขนาดยาลงในช่วงระยะเวลา 20 สัปดาห์ โดยไม่ทราบว่าตนกำลังได้รับยาขนาดเท่าใดบ้างประสบความสำเร็จในการเลิกยานอนหลับ (73%) มากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมที่สามารถเห็นขนาดของยาที่ตนได้รับ (35%) ดร.แจ๊ค เอดิงเงอร์ กล่าวว่า “เมื่อผู้ป่วยรู้ว่าคืนไหนที่มีการลดหรืองดยานอนหลับ ผู้ป่วยจะกังวลว่าพวกเขาจะมีอาการเป็นอย่างไร ความจริงก็คือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะไม่มียาอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย” แต่เป็นเพราะความคิดคาดการณ์ในด้านลบต่อผลที่จะตามมาของผู้ป่วย

ในทำนองเดียวกันในปี 2012 มีนักวิจัยที่ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่รับประทานยา Ambian (ชื่อสามัญ Zolpidem) เป็นระยะเวลา 1 ปี และในระหว่างนี้ผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนให้รับประทานยาหลอก (Placebo) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ในทุก ๆ 3 เดือน โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว พบว่าในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาหลอกผู้ป่วยไม่มีอาการของการนอนไม่หลับที่รุนแรงเลย (Rebound insomnia) ซึ่งเป็นสิ่งที่สนับสนุนความจริงที่ว่า ถ้าหากผู้ป่วยไม่มีความวิตกกังวลในเรื่องขนาดหรือปริมาณของยานอนหลับที่ได้รับ…ก็สามารถนอนหลับได้ดีโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับ

จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการเลิกยานอนหลับ

ก่อนที่จะเริ่มการเลิกยาควรมีการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของระบบประสาทจากการการเปลี่ยนแปลงขนาดของยานอนหลับไปจากเดิม เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้ง่ายขึ้นไม่รู้สึกทุกข์ทรมานกับความแปรปรวนของร่างกายมากนัก ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตัวดังขั้นตอนต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อมของร่างกายเป็นหัวใจสำคัญของการเลิกยา

ในขั้นตอนแรกยังไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับการรับประทานยาทั้งสิ้น โดยขั้นตอนนี้เป็นการช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบประสาทและสร้างนิสัยการนอนหลับที่ดี เพื่อที่ร่างกายของคุณจะมีความพร้อมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของยาที่รับประทาน โดยทั่วไปขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณมีอาการถอนยาน้อยลงและนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลิกยามากขึ้น ดังนั้น 6-8 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการของการปรับลดยาขอให้คุณปฏิบัติตัวดังขั้นตอนต่อไปนี้
– งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเที่ยงวัน ลดน้ำตาลให้มากที่สุด และห้ามรับประทานอาหารหลังเวลา 19.00 น. ยิ่งคุณรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพมากเท่านั้น เช่น อาหารพวกเมล็ดธัญพืชและผักต่าง ๆ อาหารเหล่านี้จะช่วยให้ระบบประสาทของคุณได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
–  ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร
–  ปรับพฤติกรรมการนอนของคุณโดยเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน จัดห้องนอนให้สะดวกสบายและไม่มีแสงสว่างรบกวน (ไม่มีทีวี!) และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน
–  สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ไม่ใช้ยานอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือดื่มเครื่องดื่มสำหรับก่อนนอนโดยเฉพาะ เพราะสมองจะเชื่อมโยงกิจกรรมดังกล่าวเข้ากับการนอนหลับ ซึ่งจะช่วยให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้นได้เมื่อหยุดรับประทานยา
–  ฝึกเทคนิคคลายเครียดที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายก่อนนอน ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น การฝึกหายใจแบบลึก (Deep breathing exercise)  การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Progressive Muscle Relaxation) การสร้างภาพในจินตนาการ (Visual imagery training ) การฝึกคุมจิต (Autogenic training) การฝึกสมาธิ ฯลฯ วิธีการฝึกคลายเครียดเหล่านี้มีเป้าหมายเหมือนกัน คือ ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต หายใจช้าลงและลึกขึ้น และสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย จากการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเหล่านี้ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
–  รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงต่อมหมวกไตและระบบประสาท เช่น  ถังเช่า ขมิ้นชัน ใบบัวบก ใบกะเพรา โสมจีน ใบแปะก๊วย โกจิเบอร์รี่ (เก๋ากี้) เจียวกู้หลาน ฯลฯ 
 ฝึกสติปล่อยวางความคิดเพื่อที่จะได้ไม่ใส่ใจ หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่จะเป็นเหตุให้มีความกังวลใจเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น อยากนอนหลับได้ กลัวว่าจะนอนไม่หลับ ไม่อยากให้ถึงเวลากลางคืนเลย ฯลฯ ความคิดเหล่านี้จะทำให้เวลาเข้านอนเปรียบเสมือนเวลาเข้าสู่สนามรบได้ และมักจะทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้จริง ๆ

ขั้นที่ 2 ขอคำปรึกษาจากแพทย์

การปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากแพทย์จะทราบว่าคุณรับประทานยาชนิดใด จำนวน ปริมาณ และระยะเวลานานเท่าใด และสามารถช่วยให้คำปรึกษาในการเลือกวิธีการหรือโปรแกรมการลดยาที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคุณ รวมถึงเรื่องคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลอาการไม่สุขสบายต่าง ๆ จากอาการถอนยานอนหลับ

ขั้นที่ 3 การลดยานอนหลับ

การค่อย ๆ ลดขนาดยานอนหลับจะช่วยให้ร่างกายมีเวลาในการปรับตัว โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 4 เดือนในการค่อย ๆ ลดขนาดยาลง แต่บางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และระยะเวลาความยาวนานในการรับประทานยาของคุณ ซึ่งวิธีการในการเลิกยานอนหลับที่ปลอดภัยสามารถกระทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ ดังในตัวอย่างต่อไปนี้

รูปแบบที่ 1 ดร.ไมเคิล บรูส์ (Dr. Michael Breus) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิทราเวช ชาวอเมริกันแนะนำให้เลิกรับประทานยานอนหลับแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังต่อไปนี้

  1. สัปดาห์ที่ 1-2 ให้รับประทานครึ่งหนึ่งของขนาดยา (Dose) ที่รับประทานตามปกติในแต่ละคืน ทุกคืนยกตัวอย่างเช่นหากคุณเคยได้รับยาลอราซีแพม ( Lorazepam) 2 มิลลิกรัมก่อนนอนก็ลดลงเหลือ 1 มิลลิกรัม
  2. สัปดาห์ที่ 3-4  ให้ลดขนาดยาลงอีกครึ่งหนึ่งจากครั้งก่อนและรับประทานอย่างนี้ทุกคืน จากตัวอย่างดังกล่าว (ในข้อ1) ก็จะลดยาลอราซีแพมลงเหลือ 0.5  มิลลิกรัม
  3. สัปดาห์ที่ 5  ให้เปลี่ยนเป็นรับประทานยาในขนาดเดิม (0.5  มิลลิกรัม) ในทุก 3 คืน แทนที่จะรับประทานเหมือนเดิมทุกคืนและเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 5 คนส่วนใหญ่ก็จะเลิกใช้ยาได้สำเร็จ

รูปแบบที่ 2 เบลังเจอร์และคณะ (Belanger et al ,2009) ได้นำเสนอรูปแบบของการเลิกยาซึ่งผู้รักษาและผู้ป่วยมีการวางแผนร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายแบบกว้าง ๆในการลดยาไว้ล่วงหน้า เช่น เริ่มต้นให้ลดขนาดยาลงให้ได้ 25% ของขนาดเดิมภายในสัปดาห์ที่สอง ลดให้ได้อีก 50% ภายในสัปดาห์ที่สี่ และสามารถเลิกยาได้ 100% ภายในสัปดาห์ที่สิบ ซึ่งเป็นการใช้วิธีการลดยาลง 25% ของขนาดเดิมในทุก ๆ สองสัปดาห์ เช่น การเลิกรับประทานยาลอราซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัม

  1. สัปดาห์ที่ 1-2  ให้ลดยาหนึ่งในสี่ของขนาดยาเดิม (25%) ในแต่ละคืน นั่นคือ 1.5 มิลลิกรัม
  2. สัปดาห์ที่ 3-4 ให้ลดขนาดยาให้ได้ครึ่งหนึ่งของขนาดยาเดิม (50%) นั่นคือ 1 มิลลิกรัม
  3. สัปดาห์ที่ 5-6  ให้ลดขนาดยาให้ได้สามในสี่ของขนาดยาเดิม (75%) นั่นคือ 0.5 มิลลิกรัม
  4. หลังสัปดาห์ที่ 6-8 ยังคงรับประทานยาในขนาดเดิม (0.5 มิลลิกรัม) แต่มีการหยุดรับประทานยาเป็นบางคืน โดยเริ่มต้นจากให้ผู้ป่วยวางแผนเลือกวันที่ผู้ป่วยจะหยุดรับประทานยานอนหลับได้ง่ายขึ้น (เช่น ในคืนสุดสัปดาห์ที่ไม่มีภารกิจสำคัญในวันถัดไป) จากนั้นในขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นการให้ผู้ป่วยเลือกวันที่จะหยุดรับประทานยาล่วงหน้า โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นวันที่ต้องการหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ยานอนหลับในคืนที่ “นอนหลับยาก” หรือในทางตรงกันข้ามคือมีการใช้ยานอนหลับในคืนที่ไม่จำเป็นต้องใช้

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีความกังวลต่อผลที่จะตามมาจากเลิกใช้การนอนหลับก็คือ การช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ขนาดยานอนหลับเพียงเล็กน้อยที่ใช้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายมีประโยชน์ต่อการช่วยให้นอนหลับน้อยมาก ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวส่งผลดีต่อการจัดการต่ออาการแปรปรวนของการนอนหลับที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของผู้ป่วย โดยไม่ต้องกลับไปใช้ยานอนหลับอีกและตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 เป็นต้นไปก็จะเป็นการเลิกใช้ยานอนหลับในทุกคืน

รูปแบบที่ 3 ศาสตราจารย์ ดร.คาร่า แทนเนนบาม (Dr. Cara Tannenbaum) ที่ปรึกษาของกรมวิทยาศาสตร์สุขภาพของแคนาดา ได้จัดทำแนวทางในการลดยาเป็นตาราง โดยกำหนดให้ค่อย ๆ ลดยาลงทีละเล็กละน้อย ใช้ระยะเวลาในการเลิกยา 4 เดือนครึ่ง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 จนถึงสัปดาห์ที่ 18 เป็นโปรแกรมการลดยาที่ระบุครอบคลุมในเรื่องขนาดของยาและวันที่กำหนดในช่วงระยะเวลาเป็นสัปดาห์  ซึ่งการลดยานี้ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเช่นเดียวกัน หากระหว่างกระบวนการของการเลิกยาคุณรู้สึกว่ามีอาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาในทันทีและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับ โดยทั่วไปเมื่อเริ่มต้นโปรแกรมหากคุณยังสามารถนอนหลับได้สบายในคืนที่ลดขนาดยาลง (อาจเกิดขึ้นทันทีหรืออาจใช้เวลาหนึ่งหรือสองสัปดาห์) คุณจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการเลิกยานอนหลับซึ่งจะมีผลดีต่อการลดยาในช่วงเวลาต่อมา และขอให้ใช้ความคิดในทางบวกต่อการนอนหลับในช่วงนี้ว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น หากฉันนอนหลับไม่สนิทก็คือ ฉันอาจจะมีอารมณ์ไม่ดีมากนักในระหว่างวัน ก็แค่นั้นเอง”

โปรแกรมการลดยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษา

ตารางการลดยา
สัญลักษณ์ที่ใช้แทนขนาดของยา

ในระหว่างกระบวนการลดยา คุณอาจมีอาการนอนนานขึ้น นอนน้อยลง ตื่นบ่อย ฝันมากขึ้น หรือรู้สึกง่วงซึมในวันรุ่งขึ้น การดูแลตัวเองตามที่อธิบายไว้ในขั้นตอนที่ 1 น่าจะช่วยได้

ขั้นที่ 4 การอดทนและรอคอย

ยิ่งคุณรับประทานยานอนหลับมานานเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะการนอนหลับโดยปราศจากยานานมากเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือร่างกายของคุณต้องอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานถึงหนึ่งปีหรือนานกว่านั้นและคุณอาจจะไม่ได้นอนหลับได้อย่างสุขสบายอย่างน่าอัศจรรย์ใจในทันทีที่โปรแกรมการเลิกยาสิ้นสุดลง เพราะการนอนด้วยการใช้ยานอนหลับจะทำให้มีความรู้สึกแตกต่างจากการนอนหลับตามธรรมชาติอย่างมาก และคงต้องใช้เวลากว่าร่างกายปรับตัวให้เคยชินกับความแตกต่างดังกล่าว

การเลิกยานอนหลับอย่างปลอดภัย เป็นกระบวนการลดปริมาณยานอนหลับลงอย่างช้า ๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ร่วมกับการสร้างนิสัยการนอนหลับที่ดี รวมทั้งต้องอาศัยระยะเวลา ความมุ่งมั่นและอดทนอย่างมาก หากเพียงคุณไม่ท้อถอยคุณก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นอิสระจากการพึ่งพายานอนหลับและสามารถนอนหลับได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับมุ่งหวังกัน

แหล่งที่มา:
1. สรยุทธ วาสิกนานนท์. ยานอนหลับและสารช่วยการนอนหลับ.วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 87-97.
2.อาหารต้านเครียด! เพราะของกินจะเยียวยาทุกอย่าง. https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/135629
3. Are You a Sleeping Pill Addict? Learn How To Quit (Detox) Yourself. https://www.sleepadvisor.org/how-to-get-off-sleeping-pills/
4. Belanger l, Belleville G, Morin CM . Management of Hypnotic Discontinuation in Chronic Insomnia. Sleep Med Clin  2009; 4: 583-92.
5. Drugs to Treat Insomnia . https://www.webmd.com/sleep-disorders/insomnia-medications
6. How to stop taking sleeping pills. https://www.avogel.co.uk/health/sleep/addicted-to-sleeping-pills/
7. How to stop taking sleeping pills. https://insomnia.sleep-disorders.net/weaning
8. How to taper-off sleeping pills (You may be at risk ). https://safermedsnl.ca/resources/#sleep.
9. Reddy S. The search for an easier way to stop taking sleeping pills. https://www.wsj.com/articles/the-search-for-a-way-to-rely-on-sleeping-pills-less-11565017555
10. Tannenbaum’s 18 week benzodiazepine DETOX schedule. https://sibylesque.com/tag/ benzodiazepines/
11. Using medication: What can help when trying to stop taking sleeping pills and sedatives?. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK361010/

ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com