เป็นธรรมดาที่ผู้คนล้วนต้องเผชิญช่วงเวลาที่ทุกข์ยาก ลำบากกายใจในบางช่วงขณะของชีวิต และไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ความทุกข์ยากนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ประสบการณ์ความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถที่จะเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองใหม่ ๆ ของเราที่มีต่อโลกหรืออาจนำไปสู่ความท้อแท้ สิ้นหวังหรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้ แต่การเรียนรู้ที่จะรับมือและเอาชนะความทุกข์ยากคือสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นทางจิตใจในความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถที่จะพิชิตอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังที่ วอลท์ ดิสนีย์ กล่าวว่า “ความทุกข์ยากทั้งหมด ปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างที่ผมเคยประสบมาในชีวิต ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น… คุณอาจไม่ตระหนักตอนที่มันเกิดขึ้น แต่ความผิดหวังอันแสนเจ็บปวดอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่โลกนี้มอบให้แก่คุณ”
อะไรคือความทุกข์ยากของชีวิต
ความทุกข์ยาก (Adversity) เป็นสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ยากลำบากหรือไม่พึงพอใจ มีผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ไม่เคยพบมาก่อนหรือไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น ประสบภัยพิบัติ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียทรัพย์สิน การตกงาน การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง การหย่าร้าง ฯลฯ เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ยากลำบากต่าง ๆ เหล่านี้บุคคลไม่สามารถนำวิธีการจัดการหรือแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ มาใช้อย่างได้ผล ส่งผลให้เกิดความเครียดความทุกข์ใจอย่างรุนแรง
จิตใจที่ยืดหยุ่นเป็นอย่างไร
ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience ) เป็นกระบวนการของการปรับตัวได้เป็นอย่างดี เมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก การบาดเจ็บ โศกนาฏกรรม ภัยคุกคามหรือสาเหตุที่มาของความเครียดที่สำคัญ เช่น ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง หรือปัญหาความเครียดในที่ทำงานและด้านการเงิน ความยืดหยุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับ “การฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ” หลังจากผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ได้มากเท่าที่จะสามารถยืดหยุ่นได้และยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองอย่างมากด้วยเช่นกัน สิ่งที่เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความยืดหยุ่นทางจิตใจ คือ ในการเอาชนะความทุกข์ยากลำบาก คุณต้องช่วยตัวเองเป็นอันดับแรกก่อนเพราะสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะได้รับการ “ช่วยเหลือ” หรือไม่คือวิธีคิดของคุณไม่ใช่เหตุการณ์แวดล้อมภายนอก
ทำไม?…บางคนจึงสามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ดีกว่าคนอื่น
บางคนอาจรู้สึกว่าชีวิตของตนต้องพบกับสถานการณ์ทุกข์ยากมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเราทุกคนจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในสถานการณ์และช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไปในชีวิต ตั้งแต่การสูญเสียคนที่รักและการงานไปจนถึงการประสบกับการเลิกราและความเหงา เมื่อสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นความรู้สึกล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ชั่วคราวเป็นเรื่องปกติที่พบได้ ในขณะที่บางคนอดทนก้าวต่อไปข้างหน้าและพัฒนาตัวเองจากความทุกข์ยากนั้น แต่บางคนกลับหยุดชะงักไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้เนื่องจาก สิ่งที่จะกำหนดว่าเราจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ทุกข์ยากที่เกิดขึ้นอย่างไรนั้นมาจากวิธีการที่เราใช้ในการจัดการกับความเครียด
เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด บางคนดูเหมือนจะเข้มแข็งกว่าคนอื่น การศึกษาชี้ให้เห็นว่าความเข้มแข็งทางอารมณ์ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจในเรื่องความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะบางคนสามารถเผชิญกับความเครียดโดยไม่เจ็บป่วยในขณะที่บางคนเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น
ซูซาน โกบาซา ( Susan Kobasa :1979 ) นักจิตวิทยา กล่าวว่าความเข้มแข็งอดทน (Hardiness) เป็นลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลซึ่งทำหน้าที่เสมือนกันชน เมื่อประสบกับภาวะเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตและเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ โกบาซา ได้จำแนกองค์ประกอบความเข้มแข็งทางจิตใจออกเป็น 3 องค์ประกอบ ดังนี้
1.ความท้าทาย (Challenge) เป็นความเชื่อของบุคคลว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งท้าทาย คนที่มีความเข้มแข็งอดทน จะเปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นความท้าทาย แทนที่จะพยายามต่อสู้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันพวกเขากลับเผชิญหน้ากับมันโดยไม่ได้ตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มุ่งที่จะค้นหาความหมายและบทเรียนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านั้น
2. ความมุ่งมั่น (Commitment) หมายถึงความความตั้งใจของเราที่จะยึดมั่น ให้ความสำคัญและคุณค่าในสิ่งที่ตนกระทำอยู่ให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น โดยการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญและมีความหมายต่อชีวิต และแบ่งกระบวนการออกเป็นขั้นตอนย่อยๆแล้วลงมือทำจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมายนั้น
3. การควบคุมตนเอง (Control) คือการตระหนักว่าคุณเป็นเจ้าของการกระทำของคุณเอง คุณไม่สามารถจัดการกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณสามารถควบคุมอารมณ์และการตอบสนองของตนเองได้ คุณมีทางเลือกที่จะเสียพลังงานไปกับการเล่นเป็นเหยื่อของเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าตนไม่ใช่คนผิดเพื่อได้รับความสงสาร เห็นอกเห็นใจ หรือมุ่งเน้นไปที่การช่วยตัวเองให้หลุดออกจากความทุกข์ยาก
องค์ประกอบทั้งสามของความความเข้มแข็งอดทนนี้เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติภายในที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลสามมารถจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรที่เราจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในจิตใจและบำรุงรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของเรา
คุณสามารถที่จะเรียนรู้ในการช่วยเหลือตัวเองให้ก้าวข้ามผ่านออกจากความทุกข์ยากนั้นไปได้ สิ่งที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องของความอดทนแต่กลับเป็นความสัมพันธ์ของคุณที่มีต่อความเป็นจริง ต่อตัวคุณเองและต่อคนอื่น วิธีคิดและวิธีการที่คุณจะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเผชิญกับความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติทางจิตใจที่ทุกคนมีอยู่แต่อาจมีมากไม่เท่ากัน ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถพัฒนาให้มีมากขึ้นและเพียงพอที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความยากลำบากไปด้วยดี ด้วยการปรับตัวเองดังต่อไปนี้
ความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ได้เป็นลักษณะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยการฝึกจิตใจให้คุ้นเคยกับการเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตประจำวัน เผชิญกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหรือไม่มีแนวทางแก้ไขมาก่อน และพยายามพัฒนานิสัยในการเอาชนะอุปสรรค ซึ่งเมื่อใดถึงคราวที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัสในชีวิต ความยืดหยุ่นทางจิตใจนี่แหละจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงสถานการณ์วิกฤตินั้น ๆ ไปได้ด้วยดี และโปรดระลึกไว้เสมอว่า…มีเพียงจิตใจของคุณเท่านั้นที่จะสามารถเยียวยารักษาสิ่งที่จิตใจของคุณสร้างขึ้นมาได้…
แหล่งที่มา :
1. 5 Steps to Find Resilience in the Face of Adversity. https://www.foundationscounselingllc.com/blog /5-steps-to-find-resilience-in-the-face-of-adversity.php
2. Marcos LR. Overcoming Adversity: the power of resilience. https://vimeo.com/34266600
3. 7 Famous People on How Adversity Made Them Stronger. https://www.uschamber.com/co/stategy/ quotes-about –overcoming- adversity
4. Building your resilience. https://www.apa.org/topics/resilience
5. Resilience: How to Rescue Yourself from Adversity. https://www.fearlessculture.design/blog-posts/resilience-how-to-rescue-yourself-from-adversity
6. Kobasa SC. Stressful life events, personality, and health: an inquiry into hardiness. J Pers Soc Psychol. 1979 Jan;37(1):1-11.
ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com