(O35) การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร
15 กุมภาพันธ์ 2021แพนิกก็แค่…ไม่สุขสบายมากหน่อย…แต่ไม่มีอันตรายใด ๆ
1 เมษายน 2021เทคนิคง่าย ๆ เพื่อหายจาก..แพนิก…อย่างถาวร
โรคแพนิก (Panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือ สถานการณ์ที่อันตราย สามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิกหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการแพนิกอาจแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่มีอาการหลาย ๆ ครั้งต่อวันไปจนกระทั่งมีอาการเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี
ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตประจำวันเนื่องจากมีความวิตกกังวลตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อไร บางรายต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการงานที่เคยทำประจำและเกิดความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่อาจดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ดังเดิม แต่ความจริงแล้วยังมีวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุดโดยการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ การยอมรับอาการอย่างเข้าใจและการฝึกปฏิบัติให้เผชิญกับอาการแพนิกได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจ
อะไรเป็นสาเหตุของโรคแพนิก ?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคแพนิก ซึ่งจากการวิจัยพบว่าโรคแพนิกอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ โดยถ้าเป็นญาติสายตรงจะพบประมาณร้อยละ 43 นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับการมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ในชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การเกิดอาการของโรคแพนิก เช่น การต้องจากไกลบ้านเพื่อไปศึกษาต่อ การแต่งงานหรือการมีลูกคนแรก ฯลฯ
เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายขณะที่มีอาการแพนิก ?
ขณะมีอาการแพนิกร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ คือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่เรียกว่า“อะมิกดาลา” ( Amygdala ) รับรู้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นจะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenaline) ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการปกป้องเราจากอันตรายในลักษณะที่เรียกว่า“สู้หรือหนี” (fight or flight) ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ปั่นป่วนในท้อง กล้ามเนื้อชาเกร็ง ปากแห้ง หายใจเร็ว ตัวร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก ฯลฯ
อะไรทำให้อาการแพนิกถึงแย่ลง ?
ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยอาการแพนิกก็จะหายไปเองในเวลา 10 นาที เนื่องจากเป็นธรรมชาติของเวลาการหลั่งอะดรีนาลินสู่กระแสเลือด แต่เมื่อเราพยายามหยุดอาการแพนิกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ หลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่ที่อาจทำให้เกิดอาการเช่นห้างสรรพสินค้า หรือไม่กล้าอยู่คนเดียว จะอยู่ในสถานที่ที่คิดว่าจะมีคนช่วยเหลือได้ตลอดเวลา การหายากล่อมประสาทเตรียมพร้อมไว้ และการพยายามหายใจในถุงกระดาษ การกระทำเหล่านี้กลับทำให้อาการของโรคนี้แย่ลงเพราะสมองส่วนอารมณ์จะรับรู้ว่าอาการต่างๆของแพนิกเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายยิ่งพยายามทำสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร อาการก็ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะสงบซึ่งอาจนานเป็นชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ถ้าคุณกลัวว่าอาการแพนิกจะเกิดขึ้นคุณกำลังส่งเสริมการกลับมาเป็นซ้ำของแพนิกและเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับ
แพนิกแบบที่เรียกว่ายิ่งเกลียดยิ่งเจอ กล่าวคือยิ่งคุณกลัวมากเท่าไร อาการแพนิกก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเรากำจัดความกลัวออกไปได้ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะไปสนับสนุนการเกิดอาการแพนิก เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาการแพนิกอย่างถาวร
ในทำนองเดียวกัน หากคุณยิ่งพยายามที่จะหยุดหรือต่อสู้กับอาการเหล่านี้ คุณก็เพียงแค่สนับสนุนและยืดเวลาให้มีอาการนานขึ้นหรือหากคุณฝึกเทคนิคการผ่อนคลายบางอย่าง แล้วรออย่างใจจดใจจ่อต่อผลลัพธ์ที่จะทำให้อาการแพนิกลดลง คุณจะต้องผิดหวัง เพราะเทคนิคต่างไม่ได้ช่วยให้คุณเอาชนะอาการแพนิกได้เท่ากับการปรับความรู้ความเข้าใจต่ออาการแพนิก