ประชาสัมพันธ์ความรู้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 (นว 0017.3/ว27863)
29 ธันวาคม 2020(O10) ระบบบริหารผลการปฏิบัติการ (PMS)
4 กุมภาพันธ์ 2021มาป้องกันปัญหาผิวหน้าจากการสวมหน้ากากอนามัยกันเถอะ
ช่วงการระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยกระตุ้นผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมหน้ากากอนามัยเนื่องจากหน้ากากอนามัยมีบทบาทสำคัญในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา สิ่งสำคัญคือต้องสวมหน้ากากต่อไปแม้ว่าจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังก็ตาม ความจริงแล้วเราสามารถลดผลข้างเคียงอันเกิดจากการต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานได้ ด้วยการดูแลตนเองอย่างง่าย ๆ ตามเทคนิคดังต่อไปนี้
1. ทำความสะอาดใบหน้าและทามอยส์เจอไรเซอร์ (สารช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น) ทุกวัน การดูแลผิวอย่างอ่อนโยนจะช่วยป้องกันปัญหาผิวได้ โดยควรล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ปราศจากน้ำหอมแล้วตามด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ที่เหมาะกับผิวของคุณทันที ควรทาก่อนและหลังจากการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันปัญหาผิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย
2. ปกป้องริมฝีปากของคุณด้วยการทาวาสลีนเจลลี่ ผิวแห้งและริมฝีปากแตกเป็นปัญหาผิวจากการสวมหน้ากากอนามัยที่พบบ่อย คุณสามารถป้องกันไม่ให้ริมฝีปากแตกได้โดยทาวาสลีนเจลลี่ที่ริมฝีปากของคุณหลังการล้างหน้า ก่อนสวมหน้ากากและก่อนนอน
3.งดการแต่งหน้าขณะสวมหน้ากากอนามัย การแต่งหน้ามีแนวโน้มที่จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่สวมหน้ากากอนามัยมีการอุดตันรูขุมขนและนำไปสู่การเกิดสิว หากจำเป็นต้องแต่งหน้าให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีข้อความว่า “non-comedogenic” หรือ “ไม่อุดตันรูขุมขน”
4. หลีกเลี่ยงการลองใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวใหม่ ๆ ที่อาจทำให้ผิวของคุณระคายเคือง เพราะแม้แต่การสวมหน้ากากอนามัยระยะเป็นเวลาสั้น ๆ ก็สามารถทำให้ผิวของคุณผิวไวต่อการระคายเคืองมากขึ้น เพื่อลดปัญหาผิวหลีกเลี่ยงการลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่รุนแรงต่อผิวเป็นครั้งแรกเช่น สารเคมีที่ใช้ในการลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว การขัดผิว หรือเรตินอยด์ (อนุพันธ์ของวิตามินเอ)
5. ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ใช้อยู่ให้น้อยลงหากใบหน้าของคุณมีอาการระคายเคือง เมื่อคุณสวมหน้ากากอนามัยบนใบหน้า ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวบางชนิดที่คุณเคยใช้เป็นประจำอาจทำให้ผิวของคุณเกิดการระคายเคืองได้ เช่น ซาลิไซลิก แอซิด (ยาลอกผิวหนัง) เรตินอยด์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้หลังจากการโกนหนวดฯลฯ
6. เลือกสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาผิว ควรใช้หน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
– กระชับพอดีทั้งด้านข้างจมูกและใต้คาง ใส่สบาย
– มีผ้ามาประกอบกันอย่างน้อย 2 ชั้น
– เนื้อผ้าที่นุ่มทำจากเส้นใยธรรมชาติและระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใช้ใยสังเคราะห์เพราะอาจทำให้ระคายเคืองต่อผิวและทำให้เกิดสิวได้ ในการสวมใส่หน้ากากอนามัยควรให้ผ้าชั้นในสุดแนบสนิทกับผิวหน้าของคุณพอดี
7. ถอดพักการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 15 นาที ทุก 4 ชั่วโมง ผู้ที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา พบว่าการปฏิบัติอย่างนี้ช่วยรักษาผิวหน้าของพวกเขาได้ แต่การที่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อแน่ใจว่ามันเป็นการปลอดภัยและหลังจากได้ล้างมือแล้วเท่านั้น สถานที่ปลอดภัยในการถอดหน้ากากอนามัย เช่น
– สถานที่กลางแจ้งหรือบริเวณภายนอกอาคารที่คุณสามารถอยู่ห่างจากผู้อื่นได้อย่างน้อยหกฟุต
– ภายในรถของคุณเมื่อคุณอยู่คนเดียว
– ที่บ้าน
8. ซักทำความสะอาดหน้ากากอนามัยแบบผ้า ควรซักทำความสะอาดหน้ากากอนามัยทุกวันหลังการใช้งาน การซักทำความสะอาดจะช่วยขจัดน้ำมันและเซลล์ผิวที่สะสมอยู่ภายในหน้ากากซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาผิวได้ การซักทำความสะอาดอาจทำโดยใช้เครื่องซักผ้าหรือการซักด้วยมือซึ่งทั้งสองวิธีนี้สามารถที่จะช่วยขจัดเชื้อโรคและคราบสกปรกอื่น ๆ ได้ โดยในการทำความสะอาดควรปฏิบัติดังนี้
– ปฏิบัติตามคำแนะนำวิธีการในการทำความสะอาดของหน้ากากอนามัยแต่ละชนิด
– ล้างหน้ากากอนามัยในน้ำร้อนยกเว้นมีข้อห้ามระบุไว้ในคำแนะนำ
– ใช้น้ำยาซักผ้าที่ปราศจากน้ำหอมและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
หลังจากซักทำความสะอาดหน้ากากอนามัยแล้วควรตรวจสอบดูรูปร่างของหน้ากากอีกที หากไม่กระชับพอดีหรือสวมแล้วไม่สุขสบายก็ไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
9. ปฏิบัติตามแผนการรักษา หากคุณมีปัญหาผิว เช่น สิวหรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาที่แพทย์กำหนดไว้ เพราะจะช่วยให้ควบคุมอาการได้
การใส่ใจดูแลตนเองในการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องและเหมาะสมนอกจากจะช่วยป้องกันมลพิษ เชื้อโรค และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้ดีแล้ว ยังช่วยให้ผิวของคุณคงมีสุขภาพดีเป็นปกติได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา
แหล่งที่มา : 9 ways to prevent face mask skin problems. Accessed 24 December 2020 at: https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/face/prevent-face-mask-skin-problems?
ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com
จัดทำโดยกลุ่มงานพัฒนาวิชาการและประชาสัมพันธ์