พายุอารมณ์
10 มิถุนายน 2016รู้จักโรคไบโพลาร์
15 มิถุนายน 2016
จากผลการศึกษาสถานการณ์พฤติกรรมและผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2559 ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าจากการสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สุ่มตัวอย่าง 26 จังหวัด จำนวน 7,018 คน พบกลุ่มตัวอย่างอายุน้อยที่สุดเพียงแค่ 7 ขวบเริ่มเล่นการพนันแล้ว จำนวน 11 คน เล่นมากที่สุด คือ ไพ่ ตามด้วยน้ำเต้าปูปลา ไฮโล หวยใต้ดิน และดีดลูกแก้ว ขณะที่กว่าร้อยละ 60 เริ่มเล่นการพนันอายุไม่เกิน 20 ปี การพนันที่เล่นเป็นครั้งแรกและมากที่สุดคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามด้วยหวยใต้ดิน พนันทายผลฟุตบอล ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเป็นการเสี่ยงโชคและคนภาคอีสานเล่นพนันมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคใต้
เทศกาลฟุตบอลยูโร 2016 กำลังจะเริ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นฤดูกาลแข่งขันที่แฟนๆ ฟุตบอลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และเฝ้าเชียร์ ซึ่งจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำและน่าเป็นห่วง คือปัญหาการพนัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย ใช้จ่ายเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เร็ว อีกทั้ง Social Media ก็มีการโฆษณา วิเคราะห์ ทายผล แพ้-ชนะ แอบแฝงการพนัน และบรรยากาศการเชียร์บอลมีผลเร้าใจให้วางเดิมพัน อาจทำให้เกิดนักพนันหน้าใหม่ขึ้นได้ รวมถึงพฤติกรรมขณะดูบอลที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานขนมกรุบกรอบ ไขมันสูง การนอนดึก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นขอให้คอบอลดูบอลอย่างมีสติในช่วงเทศกาลแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ด้วย 4 วิธีง่ายๆดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารทำลายสุขภาพ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์แต่น้อย
- จัดเวลานอนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ทำงานที่มีความเสี่ยงสูง
- สนุกได้…ไม่พนัน
จากการศึกษาพบว่าการเสพติดพฤติกรรม เช่นการเล่นเกม การเล่นพนัน นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสมอง เช่นเดียวกับการเสพติดสารเสพติด โดยพฤติกรรมจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ระยะที่เล่นบ้าง
- ระยะที่ 2 ระยะที่เริ่มมีปัญหา เริ่มโกหก เริ่มมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ
- ระยะที่ 3 จะหยุดตัวเองไม่ได้ จนก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงเป็นหนี้สิน ตกงาน แต่ก็ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นการพนันได้
การศึกษาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสมองเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการใช้สารเสพติด โดยมีความรู้สึกเป็นตัวเร้า โดยเฉพาะช่วงที่มีการลุ้นอารมณ์จะพีคสุด ส่งผลต่อสมองเกิดการเสพติดอารมณ์ และอยู่ไม่ได้หากไม่ได้เสพอารมณ์แบบนี้ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่คนเหล่านี้มักไม่รู้ตัวเองและไม่ยอมรับ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสมองไม่สามารถใช้การตัดสินใจแบบเป็นเหตุเป็นผลได้ ยอมรับความเสี่ยงได้ทุกอย่าง ไม่ยอมรับเหตุผลเกิดภาวะความคิดว่า “อาจจะได้” เช่น หัว ก้อย เช่นมา 9 ครั้ง ออกหัวทั้งหมด ครั้งที่ 10 มักคิดว่าจะออกก้อยแน่ๆ ทั้งๆที่ความจริงแล้วโอกาสออกหัวหรือก้อยยังมีเท่าเดิม คือ 50 ต่อ 50 ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจังตั้งแต่ระยะที่ควบคุมไม่ได้ ก่อนจะเสพติดจนเป็นโรค โดยการปรับพฤติกรรมฝึกการคิดวิเคราะห์ ดึงความคิดที่เป็นเหตุผลเป็นผลกลับมา แต่เมื่อใดที่เป็นโรค อาจจะต้องรับประทานยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียหายร้ายแรง เพราะพบว่าคนกลุ่มนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง
ข้อแนะนำสำหรับประชาชนสังเกตพฤติกรรมของตนเองและผู้ใกล้ชิด หากมี 1 ใน 3 ข้อ ต่อไปนี้เสี่ยงต่อการติดพนัน
- นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล เมื่อพยายามหยุดเล่นพนัน
- ปิดบังครอบครัว หรือเพื่อน ไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน
- ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน
นอกจากนั้นผลกระทบจากการนอนไม่เพียงพอที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่
- ด้านอารมณ์ อาจเปลี่ยนแปลงง่าย เช่น หงุดหงิดบ่อย อารมณ์เสียง่าย
- ด้านการนอน เนื่องจากวงจรการนอนถูกรบกวนจึงทำให้หลับยาก
- ด้านการงาน เมื่อนอนน้อยจะมีผลต่อสมาธิและความจำจึงมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ง่าย
- ด้านสุขภาพกาย จำนวนชั่วโมงพักผ่อนที่ไม่เพียงพอย่อมส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานได้ลดลงทำให้เจ็บป่วยง่ายและร่างกายอ่อนล้า
- ด้านสุขภาพจิต ในผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญของการกำเริบของโรค ทั้งโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท
โดยได้นำเทคนิคการให้การปรึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่า MI (Motivational Interview) ซึ่งเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยผู้ให้การปรึกษา จะสัมภาษณ์ เก็บข้อมูล และใช้คำถาม เพื่อให้เกิดการฉุกคิด ถึงทางเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง ตลอดจนเพิ่มแรงจูงใจให้เลิกพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดผลเสีย โดยกรมสุขภาพจิตมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต เลิกพนัน 1323 ให้คำปรึกษาฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.facebook.com/GamblingCounseling1323/ ซึ่งจะมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมฝึกการคิดวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการจูงใจให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
ที่มา
– ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
– นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (กรอบบ่าย)
– แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์